วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หุ่นยนต์แมวน้ำดูแลเด็ก

สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงของญี่ปุ่น สร้างหุ่นยนต์ขนปุยสีขาวเหมือนแมวน้ำ ชื่อ ปาโระ สำหรับดูแลเด็กป่วยในโรงพยาบาล ในงานคอมเด็กซ์ ซึ่งจัดขึ้นที่นครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา หุ่นยนต์แมวน้ำชื่อ ปาโระ ได้รับรางวัลรางวัลเบสท์ออฟคอมเด็กซ์ จากผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 10 รางวัล ทาคาโนริ ชิปาตะ วิศวกร ผู้สร้างหุ่นยนต์ปาโระ กล่าวว่า ปาโระยังเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบ ซึ่งผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในสถานเลี้ยงเด็กในญี่ปุ่นและสวีเดน เพื่อให้ดูแลและสร้างความบันเทิงให้แก่เด็ก ๆ ที่มีปัญหาสุขภาพ สำหรับหุ่นยนต์ปาโระนั้น บริเวณใบหน้าได้รับการติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายและตอบโต้กับมนุษย์ได้ จากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยและเด็ก ๆ ในโรงพยาบาลและสถานเลี้ยงเด็กชอบพูดคุยกับหุ่นยนต์ ซึ่งส่งผลดีต่อการรักษาพยาบาล และใน เร็ว ๆ นี้ ปาโระถูกนำมาทดสอบที่โรงพยาบาลเด็กในสหรัฐอเมริกา ส่วนราคาขายคาดว่า จะอยู่ประมาณ 2,500-3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90,000-120,000 บาทของไทย


แนวคิดของหุ่นยนต์บำบัด
หุ่นยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดึงดูดและกระตุ้นความสนใจจากเด็กๆ ทั่วไปรวมทั้งกลุ่มเด็กออทิสติกด้วย หลายหน่วยงานวิจัยจึงริเริ่มทดลองนำหุ่นยนต์มาเป็นตัวสื่อปฏิสัมพันธ์กับเด็กที่มีอาการผิดปกติ หลายคนเชื่อว่าหุ่นยนต์ของเล่นให้ความเป็นกันเองและความอุ่นใจต่อเด็กๆ มากกว่าผู้ใหญ่รอบข้างเสียอีก
คุณลักษณะที่มีความจำเป็นในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานในเด็กพิเศษ สามารถแบ่งได้ดังนี้
1) ความน่าสนใจ หุ่นยนต์ควรมีความน่าสนใจ มีลูกเล่นหลายๆ อย่าง ได้แก่ ระบบแสง สี เสียง การเคลื่อนไหว การตอบสนอง การควบคุม พบว่าเด็กให้ความสนใจต่อพฤติกรรมของหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์
2) ความคงทนและแข็งแรง เนื่องจากอาจมีพฤติกรรมของเด็กที่ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ทุบตีตนเองหรือผู้อื่น พบว่าเด็กมีการทุบตี ขว้างปา ดึง หุ่นยนต์ จึงทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้
3) มีการตอบสนองต่อสัมผัส เสียง แสง และการเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถแบ่งได้ ดังนี้
การสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญในการเล่นและการเรียนรู้ของเด็ก ควรติดตั้ง Touch Sensors เพื่อให้หุ่นยนต์ตอบสนองต่อลักษณะการสัมผัสได้อย่างถูกต้อง และเป็นธรรมชาติ
เสียงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็ก เป็นสิ่งที่สื่อถึงอารมณ์ของเด็ก การติดตั้งระบบรู้จำเสียงและระบบตอบสนองต่อเสียง หุ่นยนต์จะสามารถหันตามเสียง รวมทั้งเป็นตัวรับคำสั่งเสียงจากผู้ใช้ และแสดงพฤติกรรมตามคำสั่งของผู้ใช้ได้
หุ่นยนต์ที่มีระบบการรับรู้แสง จะช่วยให้รับรู้เวลา กลางวัน หรือกลางคืน ช่วยให้แสดงพฤติกรรมได้สัมพันธ์กับสถานการณ์ และเวลา เป็นธรรมชาติมากที่สุด
การเคลื่อนไหวเป็นส่วนสำคัญของหุ่นยนต์ พบว่าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของหุ่นยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหว ดังนั้นหุ่นยนต์บำบัดจึงควรมีระบบการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องตามสรีระ
4) น้ำหนักและขนาด เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หุ่นยนต์ขนาดใหญ่มากจะเป็นอุปสรรคต่อการเล่นของเด็ก รวมถึงนำหนักที่มากยังส่งผลให้เด็กไม่สามารถอุ้มเล่นได้ ซึ่งหากเด็กเล่นหุ่นยนต์ได้ลำบาก จะเกิดความคับข้องใจขึ้น จนอาจส่งผลถึงช่วงความสนใจของเด็ก
5) การควบคุม ควรใช้งานง่าย มีการติดตั้งสวิตซ์ควบคุมที่ตัวหุ่นยนต์ หรือต่อสวิตซ์ออกมาภายนอกเป็นสวิตซ์เดี่ยว เพื่อให้เด็กสามารถกดควบคุมการทำงานได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นให้เด็กมีช่วงความสนใจในการเล่นกับหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้เล่นสามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ตามที่ต้องการ



ประโยชน์ของหุ่นยนต์บำบัด
1) เพื่อช่วยดูแล ทำกายภาพบำบัด ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต สมองพิการ
2) เพื่อกระตุ้นความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นประสาทสัมผัสในผู้ป่วยออทิสติก ถึงแม้เด็กจะไม่ได้สนใจหุ่นยนต์ตลอดเวลา แต่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาชอบพวกสิ่งของกลไกที่ทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา
3) เพื่อกระตุ้นความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
รูปหุ่นยนต์แมวน้ำ Paro


เอกสารอ้างอิง
จักรพงษ์ พิพิธภักดี. หุ่นยนต์แมวน้ำบำบัดเด็กออทิสติก. [Online] 2006; Available from: URL: http://www1.stkc.go.th [Accessed: 2006, Dec 17]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น